ข้อมูลผู้ประเมินฯ
ชื่อ : นายประภาส ศรีทอง
ตำแหน่ง : รองผู้อำนวยการสถานศึกษา
วิทยฐานะ รองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาร้อยเอ็ด
โรงเรียนสตรีศึกษา อำเภอ เมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด
ประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานตามมาตรฐานตำแหน่ง
ประเด็นท้าทาย
ประเด็นท้าทาย เรื่อง รูปแบบการบริหารการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ด้วยชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC)
สภาพปัญหาการบริหารจัดการสถานศึกษาและคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในยุคศตวรรษที่ 21 ส่งผลต่อวิถีชีวีติของคนในสังคม เป็นยุคของข้อมูลข่าวสารและการเปลี่ยนแปลงด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้การสื่อสารไร้พรมแดน การเข้าถึงแหล่งข้อมูลสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา ส่งผลให้ผู้เรียนจำเป็นจะต้องมีความสามารถในการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้แสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา ประกอบกับปัจจุบันมีองค์ความรู้ใหม่เกิดขึ้นมากมายทุกวินาที ทำให้เนื้อหาวิชามีมากเกินกว่าที่จะเรียนรู้จากในห้องเรียนได้หมด ซึ่งการสอนแบบเดิมด้วยการ “พูด บอก เล่า” ไม่สามารถจะพัฒนาผู้เรียนให้นำความรู้ที่ได้จากการเรียนในชั้นเรียนไปใช้ได้จริง ครูจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนรู้ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม เทคโนโลยีและการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนหรือผู้ถ่ายทอดความรู้ เป็นผู้ชี้แนะวิธีการค้นคว้าหาความรู้ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้สามารถแสวงหาความรู้ และประยุกต์ใช้ทักษะต่างๆ สร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง จนเกิดเป็นการเรียนรู้อย่างมีความหมาย การบริหารการจัดการเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ 21 จึงจำเป็นต้องพัฒนารูปแบบเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การศึกษาต้องมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดการปฏิบัติและการสร้างแรงบันดาลใจไปพร้อมๆกัน กล่าวคือ ผู้เรียนจะไม่เป็นเพียงผู้รับ (Passive Learning) อีกต่อไป แต่ผู้เรียนต้องฝึกการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ และการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองโดยการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ซึ่งมีครูเป็น “โค้ช” ที่คอยออกแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อช่วยให้ผู้เรียนบรรลุผลการเรียนรู้ได้ ประการสำคัญ คือ ครูในศตวรรษที่ 21 จะต้องไม่ตั้งตนเป็น “ผู้รู้” แต่ต้องแสวงหาความรู้ไปพร้อมๆกันกับผู้เรียน ดังนั้น การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ต้องก้าวข้าม “สาระวิชา” ไปสู่การเรียนรู้ “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” (21st Century Skills) ซึ่งครูจะเป็นผู้สอนไม่ได้ แต่ต้องให้นักเรียนเป็นผู้เรียนรู้ด้วยตนเอง โดยครูออกแบบการเรียนรู้ ฝึกฝนให้ตนเองเป็นโค้ช (Coach) และอํานวยความสะดวก (Facilitator) ด้วยการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ซึ่งเป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนทุกคนมีส่วนร่วมในการลงมือกระทำและใช้กระบวนการคิด โดยผู้เรียนจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับความรู้ (Receivers) ไปสู่การมีส่วนรวมในการสร้างองค์ความรู้ (Co - creators) โดยสิ่งที่เป็นตัวช่วยของครูในการจัดการเรียนรู้ คือ ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Communities : PLC) โดยการรวมตัวกันของครูเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำหน้าที่ของครูแต่ละคน เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน พัฒนาความเป็นครูมืออาชีพ และพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา ต่อไป
จากแนวคิดข้างต้น ข้าพเจ้าในฐานะผู้บริหารสถานศึกษา โรงเรียนสตรีศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาร้อยเอ็ด ได้เล็งเห็นความสำคัญของการบริหารการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอย่างเต็มศักยภาพ พัฒนาความเป็นครูมืออาชีพ และพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา โดยอาศัยกระบวนการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพครู (PLC) ที่ประกอบด้วยขั้นตอน Plan Do See ที่จะเป็นตัวช่วยของครูในการจัดการเรียนรู้ให้ประสบผลสำเร็จ จึงได้เกิดความท้าทายที่จะพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษา เรื่อง รูปแบบการบริหารการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ด้วยชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC)